หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่คนไทยหลายคนอาจละเลยไปโดยไม่รู้ตัว คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่จะสังเกตได้ง่าย ๆ จากการเกิดจุดเลือดสีแดงขนาดเล็กกระจายตัวไปที่บริเวณแขนและขา รวมไปถึงการมีปัญหาเลือดออกตามไรฟันบ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่ต้องเผชิญปัญหานี้อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจข้ามไปสร้างปัญหาสุขภาพโดยรวม ทั้งในเรื่องของโรคไขกระดูก, ภาวะโรคตับ และเกล็ดเลือดถูกทำลายอีกด้วย

เกล็ดเลือดต่ำอันตรายแค่ไหน

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะหมายถึงการที่มีเม็ดเลือดบางชนิดปะปนอยู่ภายในกระแสเลือด ซึ่งเม็ดเลือดประเภทนี้จะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เลือดออกมากเกินไป เมื่อเกิดมีบาดแผลใด ๆ ขึ้นภายในร่างกาย พร้อมการเป็นตัวช่วยด้านทำให้เลือดหยุดไหลอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อเกล็ดเลือดมีต่ำกว่า 150,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาเลือดไหลไม่หยุด ยิ่งถ้าเกล็ดเลือดต่ำลงมากกว่า 30,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อาจจะยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้อีกด้วย ดังนั้นภาวะของเกล็ดเลือดต่ำจึงถือว่ามีความน่ากังวลไม่น้อยไปกว่าโรคอื่น ๆ

ทั้งยังสามารถบ่งบอกได้ถึงการเกิดปัญหาของโรคต่าง ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดน้อยลง, โรคที่เกล็ดเลือดถูกทำลายและโรคเกี่ยวกับตับ ซึ่งการจะตรวจสอบได้ว่าคุณมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือไม่ จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเท่านั้นและจะต้องระบุกับทางเจ้าหน้าที่พยาบาลว่ามาตรวจระดับเกล็ดเลือดโดยเฉพาะ เนื่องมาจากการเกิดภาวะเกล็ดเลือดมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่จะรู้อีกทีคือเมื่อเป็นแผลแล้วเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่ายเลยทีเดียว

สาเหตุการเกิดเกล็ดเลือดต่ำ

สาเหตุของการเกิดปัญหาเกล็ดเลือดต่ำจะมาได้จากหลายปัจจัย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้รู้ชัดเจน คือ การตรวจเกล็ดเลือด ถ้ามีต่ำกว่า 150,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร จึงจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยสาเหตุจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ข้อด้วยกัน คือ

1.การสร้างเกล็ดเลือดไม่เพียงพอ

สาเหตุของการสร้างเกล็ดเลือด มาจากปัญหาของไขกระดูกที่ไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ตามปกติ เพราะอาจเกิดจากโรคโลหิตจางจนทำให้ไขกระดูกฝ่อ ซึ่งสาเหตุนี้จะกลายเป็นโรคเลือดที่ค่อนข้างร้ายแรงเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้อีกหลายปัจจัย คือ

  • การเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่จะเข้าไปทำลายทั้งไขกระดูกกับสเต็มเซลล์
  • การใช้วิธีรักษามะเร็งแบบการฉายแสงและการทำเคมีบำบัด จะเข้าไปลดเกล็ดเลือดด้วยเช่นกัน
  • ส่วนของการสัมผัสสารเคมี เช่น สารกำจัดศัตรูพืช, สารอันตรายต่าง ๆ, สารหนู
  • การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยาขับปัสสาวะ, ยารักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือแม้แต่ยา Ibuprofen จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของการสร้างเกล็ดเลือด
  • ส่วนสาเหตุที่เกิดจากชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
  • การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น ธาตุเหล็กและวิตามินบี 12
  • การติดเชื้อไวรัสอย่างเชื้ออีสุกอีใส, ไวรัสเอ็บสไตบาร์, ไวรัสหัดเยอรมัน, คางทูม และไวรัสพาโว จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเกล็ดเลือดต่ำได้ด้วยเช่นกัน
  • ปัญหาพันธุกรรมจะทำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง จนทำให้การสร้างเกล็ดเลือดมีปัญหาตามไปด้วย

2.การทำลายเกล็ดเลือด

สำหรับสาเหตุที่เกิดจากการทำลายเกล็ดเลือดที่ส่งผลมาจากร่างกายโดยตรง จะเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีปัญหาภูมิต้านทานทำลายตนเอง หรือโรคออโตอิมมูน จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันกำจัดสิ่งแปลกปลอมผิดพลาด จนกลายเป็นการทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อ และเกล็ดเลือดของตัวเองแทนการทำลายเชื้อต่าง ๆ
  • การเกิดปัญหาโรค SLE
  • การเป็นโรครูมาตอยด์หรือข้ออักเสบ
  • การใช้ยาที่ทำให้การตอบสนองของร่างกายเกิดสับสน เช่น ยาควินิน, ยาไรแฟมพิน, ยาโคลพิโดเกรล, ยารักษาอาการติดเชื้อไวรัสบางชนิด และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่มาจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดสมอง, ไต, หัวใจ
  • การเกิดลิ่มเลือดจากภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อรุนแรง

3.การถูกกักไว้ที่ใดที่หนึ่ง

สาเหตุสุดท้าย คือ การที่เกล็ดเลือดจะถูกกักไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายสูงเกินไป โดยเฉพาะบริเวณม้ามที่เป็นส่วนการขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่ได้ใช้งานแล้วหรือตายแล้วออกไปจากกระแสเลือด ดังนั้นจึงทำให้เกล็ดเลือดถูกกักไว้ที่ม้ามเป็นปริมาณ 1 ใน 3 แต่ถ้าเมื่อใดที่เกิดปัญหาการติดเชื้อจากโรคมะเร็งหรือการเป็นโรคตับแข็ง เกล็ดเลือดที่ถูกกักไว้ภายในม้ามจะมีสูงกว่าปกติจนกลายเป็นม้ามโต เกล็ดเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปสู่จุดที่เหมาะสม ดังนั้นจึงทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงไปและกลายเป็นปัญหาต่าง ๆ ของสุขภาพตามมา

เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มพบรอยจุดเลือดกระจายตามบริเวณผิวหนัง มีรอยช้ำเป็นจุดสีแดงใต้ผิว ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อการตรวจสอบร่างกายกับเลือด รวมไปถึงไขกระดูกอย่างละเอียด เพื่อดูว่าคุณมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือไม่ ถ้ามีจริงต้องรีบรักษา เพื่อไม่ทำให้ลุกลามไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้